วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เนื่องด้วย อดีต ปัจจุบัน อนาคต

                มิติของความเกี่ยวเนื่องระหว่าง อดีต  ปัจจุบัน  อนาคตนั้น  เป็นหลักที่สามารถอธิบายได้ตามหลักตรรกะทั่วไป   กล่าวคือ   ผลของอดีตทั้งมวลทั้งที่เรารับรู้ด้วยอายตนะ (สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๖) และที่ไม่ได้รู้ด้วยอายตนะ (ไม่สามารถสัมผัสได้ด้วยประสาททั้ง ๖)  นั้นมีปัจจุบันเป็นผลรวมทั้งหมด (อันว่าปัจจุบันนั้นก็ยังหมายรวมถึงสิ่งที่เรารับรู้ได้หรือไม่ได้ด้วย)  และผลกระทำของปัจจุบันทั้งมวลก็จะแสดงอนาคตออกมาทั้ง ๆ ที่อาจจะมีความแปรผันของสภาวะที่เราไม่ได้รับรู้ (ซึ่งสภาวะเป็นเรื่องตามสภาพของความจริงที่เกิดขึ้นอยู่แล้วนั่นเอง)  จนทำให้เราคาดการณ์ไม่ถึงและบ่งบอกหรืออุปทานคิดสรุปเอาเองว่าอนาคตคือความไม่แน่นอน

                ที่เกริ่นนำข้างต้นคือมิติแห่งความเกี่ยวเนื่องของ อดีต  ปัจจุบัน  อนาคตโดยทั่วไป   แต่ที่จะกล่าวขยายความ ณ ที่นี้ คือ มุมหนึ่งของอีกมากมายแห่งมุมของ อดีต  ปัจจุบัน  อนาคต(ซึ่งอันที่จริงมุมเหล่านี้ก็หาได้มีเป็นตัวเป็นตนจริงไม่) เกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขอดีตที่ตนเองไม่พึงพอใจหรือปฏิบัติผิดพลาดไป   เป็นความแน่นอนแล้วว่าเราไม่เสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขเรื่องราวของในอดีตได้   แต่นั่นหาใช่ความหมายโดยรวมทั้งหมดไม่    และจะบอกว่าถูกต้องทั้งหมดยังไม่สามารถพูดได้   แต่ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถกลับไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขอดีตได้จริง   แต่เพราะความเกี่ยวเนื่องของ อดีต  ปัจจุบัน  อนาคตนั่นเอง คือคำตอบ   อดีตคือเหตุให้เกิดผลในปัจจุบัน   ปัจจุบันคือเหตุให้เกิดผลแห่งอนาคต   เนื่องเพราะสิ่งเหล่านี้มีความธรรมดาที่ต้องเกี่ยวเนื่องกันอยู่นั่นเอง   การที่เราอยู่กับปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่มีความหมายลึกซึ่งและสำคัญ   เพราะการที่เราอยู่กับปัจจุบันได้ดี คือ การที่เราได้อยู่กับอดีตและอนาคตได้ดีเช่นกัน   และเช่นเดียวกัน   การที่ปัจจุบันได้ถูกปรับปรุงไปก็สามารถบังเกิดการปรับปรุงแห่งอดีตและอนาคตได้   แต่เพราะชีวิตวิ่งวนเป็นวัฏสงสารตามอกุศลกรรม ๘ อย่างไม่รู้จบ   จึงทำให้ดูเหมือนว่า อดีต ไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้  ปัจจุบันก็ต้องทำไปตามอกุศลกรรม ๘ ที่บดบังจิตใจ  และอนาคตเป็นเรื่องของโชคและดวง   ดังบทกลอนที่กล่าวไว้ว่า
 พระสมุทรสุดลึกล้น   คณนา 
สายดิ่งทิ้งทอดมา หยั่งได้
เขาสูงอาจวัดวา  กำหนด 
จิตมนุษย์นี้ไซร้  ยากแท้ หยั่งถึง
              
   อดีตเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้แต่สามารถปรับปรุงได้”  




ดังนั้น จึงขอแบ่งคนไว้   เป็น ๕ จำพวก
๑. คือให้การกระทำของตนเป็นตามตัณหา  มิได้ใช้สติยั้งคิดตริตรองในอดีตที่ผิดพลาด   ยังคงปล่อยให้ปัจจุบันดำเนินไปตามกรรมของอดีตที่ผิดพลาดนั้นด้วยฤทธิ์ของอกุศลกรรม ๘ ที่บดบัง  
๒. คือพวกที่รู้ความผิดพลาดของอดีตแต่ไม่ยอมพยายามปรับปรุงแก้ไขตนเอง  ก็ยังคงปล่อยให้ปัจจุบันดำเนินไปตามกรรมของอดีตที่ผิดพลาดนั้นด้วยฤทธิ์ของอกุศลกรรม ๘ ที่บดบัง  
๓. คือพวกที่รู้ความผิดพลาดของอดีตแต่ไม่เข้าใจแหตุแห่งการเป็นไปของอดีต  จึงทำให้ปัจจุบันดำเนินไปตามกรรมของอดีตที่ผิดพลาดนั้นด้วยฤทธิ์ของอกุศลกรรม ๘ ที่บดบัง  
๔. คือพวกที่รู้และเข้าใจความผิดพลาดของอดีตดีแล้ว  แต่กลับไม่ทำการปรับปรุงปัจจุบันยังคงปล่อยให้ปัจจุบันดำเนินไปตามกรรมของอดีตที่ผิดพลาดนั้นด้วยฤทธิ์ของอกุศลกรรม  
๕. คือพวกที่รู้เข้าใจอดีตและปฏิบัติปัจจุบันเพื่อให้ได้ประสบแต่ทางที่ดี
ท่านผู้อ่านทุกท่านคงต้องผ่านเรื่องราวของอดีตมากันแล้ว บ้างก็เป็นเรื่องที่ดี บ้างก็เป็นเรื่องที่เลวร้าย ซึ่งอยากจะกล่าวว่าสิ่งที่ทุกท่านได้ประสบพบเจอมาแล้วนั้นมันได้ผ่านพ้นไปแล้ว ไม่สามารถที่จะแก้ไขเรื่องราวต่างๆได้ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะคิดถึงและถวินหาอดีต มีพระอาจารย์ท่านหนึ่งได้เคยสอนไว้ว่า เราสามารถนำเอาเรื่องราวในอดีตมาพิจารณาให้เกิดประโยชน์ได้ อดีตเปรียบเสมือนครู ครูก็เปรียบเสมือนเรือจ้าง พิจารณาตามนะ สมมติว่าเราต้องเดินทางไปต่างเมืองและต้องข้ามลำน้ำใหญ่เราต้องนั่งเรือใช่ไหม  เวลาที่เรานั่งเรือฟากนะ เมื่อเรือถึงข้ามฝั่งแล้ว เราจะแบกเรือแล้วเดินทางต่อไปไหม ไม่เห็นมีใครแบกเรือแล้วเดินทางต่อไปซักที ก็เหมือนกับอดีตนี่แหละ เรื่องที่มันผ่านไปแล้ว ก็ปล่อยให้มันผ่านไป ใครที่ยังวนเวียนครุ่นคิดถึงแต่เรื่องอดีต ก็เหมือนกับแบกเรือแล้วเดินทางต่อไปด้วย  มันหนักรู้ไหม ถ้ารู้แล้วก็อย่าพากันทำ อย่าพากันแบกเรือ   ผู้อ่านที่ฉลาดเมื่ออ่านมาถึงตอนนี้ก็จะได้คิดได้วางสิ่งต่างๆ ที่เคยยึดที่เคยเอาจิตไปย้ำเอาจิตไปจับเรื่องในอดีต